การถนอมพืชอาหารสัตว์
ในช่วงฤดูฝนหญ้าที่เกษตรกรปลูกไว้ให้สัตว์กินจะมีปริมาณมากเกินพอหญ้าที่เหลือในแปลงส่วนที่ยังไม่ได้ถูกตัดไปเลี้ยงสัตว์ จะแก่เกินไป ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จึงควรนำมาเก็บสำรองไว้ในรูปของ “หญ้าแห้ง” หรือ “หญ้าหมัก” เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด
การทำหญ้าแห้ง
หมายถึง การเก็บหญ้าหรือถั่ว โดยนำมาทำให้แห้ง โดยมีความชื้นประมาณไม่เกิน 15% โดยกรรมวิธีใด ๆ ก็ตาม ซึ่งโดยทั่วไปนิยมใช้แสงแดดในการทำให้แห้ง พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสำหรับทำหญ้าแห้ง ควรมีลำต้นเล็ก และอ่อน มีใบมาก เช่น หญ้ารูซี่ หญ้าแพงโกล่า หญ้าโร้ด หญ้าพลิแคทูลั่ม ถั่วฮามาต้า ถั่วท่าพระสไตโล ถั่วคาวาลเคด และถั่วไมยรา การทำหญ้าแห้ง ควรทำในช่วงที่มีแสงแดดพอเพียงโดยการตัดหญ้าในช่วงที่กำลังออกดอก จะได้หญ้าที่มีคุณค่าทางอาหารสูงที่สุดและได้หญ้าแห้งที่มีคุณภาพดีด้วย เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ เครื่องตัดหญ้า เครื่องคราดหญ้าและเครื่องอัดฟ่อนหญ้า โดยตัดหญ้าตากแดดประมาณ 1-2 แดด แล้วจึงใช้เครื่องคราดหญ้าให้เป็นแถวตากอีก 1 วัน แล้วจึงใช้เครื่องอัดฟ่อนหญ้า อัดเป็นฟ่อนประมาณ 15-20 กก./ฟ่อน แล้วตากอีก 1-2 แดด แล้วค่อยขนไปเก็บไว้ในโรงเก็บ หญ้าแห้งคุณภาพดีจะยังคงมีสีเขียว กลิ่นหอม ไม่แข็งกระด้าง มีโปรตีนประมาณ 9-10% ซึ่งเมื่อเทียบกับฟางข้าว จะมีโปรตีน 1-2% เท่านั้น โคจะกินหญ้าแห้งประมาณ 2.5% ของน้ำหนักตัว
วิธีการทำ
1. การตัด
หญ้าและถั่วโดยทั่วไปควรตัดให้เหลือลำต้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 คืบ (6- 7 นิ้ว) โดยเลือกตัดในระยะที่พืชมีความเจริญเติบโต ส่วนของใบและลำต้นเต็มที่ สังเกตได้ว่าพืชจะเริ่มมีดอกจะได้ผลผลิตมากที่สุดและส่วนของลำต้นจะไม่แข็งเกินไป และควรเลือกทำในช่วงเวลาที่ไม่มีฝน และพื้นดินแห้งพอซึ่งจะเป็นระยะที่เหมาะสมกับการทำหญ้าแห้ง
2. การทำแห้ง
สามารถทำได้ 2 วิธี
· ตากหรือผึ่งแดดให้แห้ง
· ใช้เครื่องมือช่วยทำให้แห้ง
การตัดผึ่งแดดให้แห้งในแปลงปลูกจะต้องพยายามเกลี่ยให้ส่วนของพืชกระจายอย่างสม่ำเสมอ และเป็นระเบียบไม่หนาเกินไปจะทำให้หญ้าหรือถั่วแห้งได้เร็วและพร้อมกันการกลับหญ้าและรวบรวมหญ้าจะทำได้ง่ายการกลับด้านล่างขึ้นผึ่งแดดจะช่วยให้พืชแห้งเร็วขึ้น การทำให้พืชแห้งเร็วที่สุดจะได้หญ้าแห้งคุณภาพดี การใช้เครื่องมือเพื่อช่วยอบพืชให้แห้ง สามารถช่วยพืชแห้งได้เร็วแต่ต้นทุนค่าเครื่องมือสูงมากไม่คุ้มค่าที่จะนำมาใช้
หญ้าแห้งที่ดีควรจะมีความชื้นประมาณ 15% เมื่อเก็บไว้จะไม่เป็นราหรือเกิดความร้อนจากการหมักซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ จึงควรตากพืชไว้ 2-3 แดด จะได้หญ้าแห้งที่มีความชื้นพอดี ไม่ควรตากนานมากกว่านี้
ตรวจสอบความชื้นว่าเหมาะสมหรือไม่โดยการใช้เล็บขูดผิวต้นหรือเถา ถ้าขูดเยื่อผิวต้นออกแสดงว่ายังมีความชื้นมากเกินไป ถ้าขูดไม่ออกแสดงว่าใช้ได้หรือนำพืชที่ตากมาสักกำมือบิดดูถ้าไม่มีร่องรอยความชื้นตามส่วนที่บิดหรือลำต้นที่แตก แสดงว่าแห้งพอแล้ว
3. การอัดฟ่อน
ควรทำการอัดฟ่อนในตอนเช้าขณะที่หญ้าแห้งชื้นจากน้ำค้างจะช่วยให้ส่วนของใบพืชไม่แห้งกรอบและหลุดร่วงจากต้นเมื่ออัดฟ่อนแล้วควรทิ้งฟ่อนหญ้าผึ่งแดดไว้ครึ่งวัน เพื่อให้น้ำค้างแห้งก่อนนำเข้าเก็บ การอัดฟ่อนหญ้าแห้งด้วยเครื่องอัดฟ่อนจะสะดวกและรวดเร็ว แต่เครื่องอัดฟ่อนและลวดมัดมีราคาแพงมากจึงไม่คุ้มค่าที่เกษตรกรจะนำมาใช้ ควรอัดโดยใช้แรงงานคน โดยนำหญ้าแห้งที่ตากแห้งดีแล้วใส่ในลังไม้ที่มีขนาดกว้าง 45 ซม. ยาว 70 ซม. สูง 45 ซม. เหยียบให้แน่น อัดจนเต็มลังไม้มัดด้วยเชือกปอที่วางพาดในลังก่อนใส่หญ้าแห้งผูกมัดให้แน่นก็จะได้ฟ่อนหญ้าแห้งน้ำหนักฟ่อนและประมาณ 10 กิโลกรัม ดันฟ่อนหญ้าแห้งออกทางก้นลังที่ติดบานพับสำหรับปิด-เปิดได้
4. การเก็บรักษาหญ้าแห้ง
ควรเก็บรักษาหญ้าแห้งไว้ในที่โปร่งระบายอากาศได้ดี สามารถป้องกันฝนและละอองฝน จะทำให้เก็บรักษาหญ้าแห้งไว้ได้นานโดยไม่เสื่อมคุณภาพ
ปัจจัยสำคัญที่ควบคุมคุณภาพของหญ้าแห้ง
1. เวลา
หลีกเลี่ยงการตัดเกี่ยวพืชอาหารสัตว์ ช่วงที่มีฝนตกชุก อากาศมีความชื้นสูง เช่น ฤดูฝนตัดเกี่ยวพืชอาหารสัตว์ ช่วงที่มีใบปริมาณมาก โปรตีนสูง เยื่อใยต่ำ ซึ่งจะเป็นช่วงที่พืชมีการเจริญเติบโตทางใบสูง ก่อนที่พืชจะออกดอก หากตัดเกี่ยวเร็วเกินไป พืชอาหารสัตว์มีคุณภาพดีแก่ผลผลิตต่ำ ถ้าตัดเกี่ยวช้า มีผลผลิตสูง แต่คุณภาพต่ำ
2. การลดความชื้นจากต้นพืช
ควรลดความชื้นออกจากต้นและใบพืชให้ได้มากที่สุด ในเวลารวดเร็วที่สุด วิธีการลดความชื้นที่ง่ายที่สุด และถูกที่สุด คือ การผึ่งแดด ในพืชสดหนัก 1 ตัน พบว่าการลดความชื้น จาก 80% ให้เหลือ 40% ทำได้ง่ายโดยการผึ่งแดดจัด เป็นเวลา 1-2 วัน ถ้าจะลดความชื้นให้น้อยกว่า 40% ด้วยวิธีผึ่งแดดต้องใช้เวลา ถึง 3 – 4 วัน
ลักษณะของหญ้าแห้งที่มีคุณภาพดี
1. เป็นหญ้าแห้งที่ตัดทำจากพืชที่มีอายุพอเหมาะจะทำให้มีปริมาณธาตุอาหารสูง
2. มีใบมาก ส่วนของลำต้นอ่อนนิ่ม ส่วนของใบพืชจะมีธาตุอาหารสูงและมีลักษณะนิ่มน่ากิน
3. มีสีเขียวอ่อนและกลิ่นหอม เป็นหญ้าแห้งที่มีคุณภาพดีสีเขียวในเหลืองมีคุณภาพปานกลาง สีเหลือง คุณภาพต่ำ สีเหลืองขาว เสื่อมคุณภาพไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เลี้ยงสัตว์
4. ปราศจากวัชพืชอื่น ๆ เพราะจะทำให้สัตว์กินหญ้าแห้งน้อยลงโดยเฉพาะจะต้องไม่มีวัชพืชที่ระบาดร้ายแรงและวัชพืชที่เป็นพิษกับสัตว์เช่น หญ้าขจรจบ ต้นสาบเสือ ต้นกระเพราะป่า ต้นไมยราบ เป็นต้น
5. ไม่เป็นรา และมีความชื้นมากเกินไปจนเกิดลักษณะการหมักเน่าจะเป็นอันตรายต่อสัตว์หรือสัตว์ไม่กิน
6. ไม่มีวัตถุต่าง ๆ ปลอมปนเช่น เศษไม้ ถ่าน ฝุ่น เป็นต้น
การนำไปใช้เลี้ยงสัตว์
- สัตว์อายุน้อย เช่น ลูกโคหลังหย่านม สามารถใช้พืชแห้งคุณภาพดีเป็นอาหารได้ จะทำให้กระเพาะหมักของลูกโคมีการพัฒนาสมบูรณ์เร็วขึ้น ลูกโคกินอาหารหยาบได้ดีขึ้น ถ้าใช้เลี้ยงลูกโคตั้งแต่ยังดูดนม จะทำให้หย่านมลูกโคได้เร็วขึ้น
สัตว์ที่โตเต็มวัย ใช้พืชแห้งคุณภาพดี จะทำให้โคกินวัตถุแห้งได้มากขึ้น ได้รับสารอาหารจากวัตถุดิบอาหารสัตว์เต็มที่ ยังทำให้คอกสะอาด เนื่องจากมูลโคมีน้ำน้อยเก็บกวาดง่าย
การทำหญ้าหมัก
หมายถึง การเก็บหญ้าไว้ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน โดยจะได้หญ้าที่มีรสเปรี้ยว กลิ่นหอมและอยู่ในสภาพที่อ่อนนุ่ม หรือในสภาพอวบน้ำเช่นเดียวกับหญ้าสด ทำให้สัตว์กินได้มาก ย่อยได้ง่ายกว่าหญ้าแห้งพืชที่เหมาะสำหรับทำหญ้าหมัก ควรมีความชื้นระหว่าง 60-70% ซึ่งจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของ จุลินทรีย์และควรมีปริมาณน้ำตาลที่ละลายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 12% ในวัตถุแห้ง ถ้าปริมาณน้ำตาลมีน้อย ควรใช้น้ำตาลหรือกากน้ำตาลเป็นสารเติมในการหมักพืชที่เหมาะกับการหมักทั่วไป ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง โดยตัดพืชดังกล่าวในช่วงที่กำลังเป็นน้ำนมด้วยเครื่องตัดหรือใช้แรงคนตัด สำหรับหญ้า ได้แก่ เนเปียร์ กินนีสีม่วง รูซี่ อะตราตัม พลิแคทูลั่ม แพงโกล่า แล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1- 2 นิ้ว นำมาบรรจุในภาชนะหรือถังหมักอัดให้แน่น เพื่อไล่อากาศออกให้หมด ในกรณีที่ต้องการผลิตพืชหมักปริมาณมาก อาจจะเติมกากน้ำตาลหรือข้าวโพดป่นลงไปด้วย เพื่อเป็นสารช่วยหมัก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพของพืชหมัก โดยใช้กากน้ำตาล 10-30 กก./หญ้า 1 ตัน ทำการหมักไว้ประมาณ 21 วัน จึงเปิดใช้ได้ หญ้าหมักที่ดีจะมีสีเหลือง-อมเขียวกลิ่นหอม มีความชื้นประมาณ 80% มีค่าความเป็นกรด-ด่างประมาณ 3.5 – 4.2 ไม่มีราหรือกลิ่นบูดเน่า ไม่มีเมือก หญ้าหมักสีดำไม่ควรนำไปให้โคกิน โคจะกินหญ้าหมักได้ 10-15 กก./วัน
2.3 ขั้นตอนการผลิตพืชหมัก
การผลิตพืชหมักมีขั้นตอน ดังนี้
1) ตัดเกี่ยวพืชอาหารสัตว์ช่วงที่พืชมีผลผลิตและคุณภาพสูงที่สุด สำหรับหญ้าอาหารสัตว์ในประเทศไทยควรตัดเกี่ยวเมื่ออายุ 30-45 วัน ส่วนถั่วอาหารสัตว์ควรตัดเกี่ยวอายุ 60-90 วัน
2) หั่นพืชให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ความยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตรเพื่อให้สามารถอัดแน่น ลดพื้นที่และทำให้กระบวนการหมักเกิดเร็วขึ้น ปัจจุบันมีอุปกรณ์เก็บเกี่ยวพืชติดรถแทรกเตอร์ที่หั่นพืชเป็นชิ้นขนาดเล็กแล้วนำไปผลิตพืชหมักได้
3) อัดพืชหมักลงในภาชนะ ถุงหมัก ถังหมัก หรือบ่อหมักให้แน่นภายในระยะเวลาสั้นที่สุด สำหรับการผลิตพืชหมักปริมาณน้อย ๆ อาจจะใช้คนเหยียบใช้น้ำหนักกดทับ ส่วนการผลิตปริมาณมาก ๆ ใช้รถแทรกเตอร์เหยียบจนแน่น พืชหมักที่อัดได้แน่นกว่า มีคุณภาพดีกว่าและเก็บได้นานกว่า
4) ปิดภาชนะ ถุงหมัก ถังหมัก บ่อหมักให้สนิทกันอากาศเช้า สำหรับการผลิตในบ่อคอนกรีตหรือคันดิน ควรใช้วัตถุที่มีน้ำหนักมาก ๆ ทับ เช่น ดินแท่งคอนกรีต ยางรถยนต์ จนกว่าจะถึงเวลาเปิดใช้ประโยชน์
5) เก็บพืชหมักไว้ในที่เย็น ควรตั้งไว้ในที่ร่ม
2.4 การเลือกวิธีผลิตพืชหมัก
การเลือกวิธีผลิตพืชหมัก หรือเลือกอุปกรณ์ที่จะใช้ในการผลิตพืชหมัก ขึ้นกับปริมาณพืชที่จะหมัก ระยะเวลาที่ต้องการเก็บรักษาพืชหมัก รวมทั้งความสามารถในการลงทุนของเกษตรกรและความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ
การเลี้ยงโคนมในประเทศไทยปัจจุบัน เกษตรกรนิยมผลิตพืชหมักมากขึ้น โดยฟาร์มขนาดเล็กผลิตพืชหมักปริมาณน้อย ใช้ภาชนะที่หาได้ในท้องถิ่นราคาถูก เช่น
- ถุงพลาสติก (โอกาสที่ถุงจะฉีกขาดง่าย ทำให้หญ้าหมักเน่าเสียได้)
- กระสอบสานหุ้มพลาสติก (สามารถใช้ถุงใส่อาหารสัตว์เปล่าที่มีอยู่ตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์)
- ถังพลาสติก (ราคาถังค่อนข้างแพง)
- ก่อกำแพงคอนกรีต
ฟาร์มขนาดใหญ่บางฟาร์มเริ่มสนใจผลิตพืชหมักไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอตลอดปี โดยใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น กำแพงคันดิน กำแพงคอนกรีต หรือ ผลิตพืชหมักแบบห่อก้อน ส่วนไซโลตั้งพื้นแบบถังกลมทั้งแบบถังคอนกรีตและถังเหล็ก ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะนำพืชหมักออกมาใช้ยากและไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อน
การทำหญ้าหมักในกระสอบสานหุ้มพลาสติก หรือถุงใส่อาหารสัตว์เปล่า
การทำหญ้าหมักโดยใช้กระสอบสานหุ้มพลาสติกใสเป็นภาชนะในการบรรจุ จะเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย ๆ เพราะสามารถทยอยทำได้ตามกำลังแรงงาน และปริมาณหญ้าสด ทั้งยังสะดวกในการนำออกมาใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะไม่ฉีกขาดง่ายและสามารถป้องกันมด แมลงกัดถุงทำให้หญ้าหมักเน่าเสียได้
ปัจจัยสำคัญที่ควบคุมคุณภาพของหญ้าหมัก
1. อากาศในภาชนะที่ใช้หมัก จะต้องบรรจุพืชลงในภาชนะที่ใช้หมักให้เสร็จภายในระยะเวลาสั้นที่สุดแล้วปิดภาชนะให้สนิทไม่ให้อากาศเข้า รักษาสภาวะสุญญากาศในภาชนะ
2. ความชื้นของพืช พืชที่นำมาหมักควรมีความชื้นอยู่ระหว่าง 60-70% ลดความชื้นต้นพืชเล็กน้อยก่อนบรรจุภาชนะหมัก หลีกเลี่ยงการผลิตพืชหมักวันที่มีฝนตก
3. ปริมาณน้ำตาลในพืช พืชที่นำมาหมักควรมีปริมาณน้ำตาลที่ละลายได้อยู่ระหว่าง 12-25%
4. อุณหภูมิ ตั้งภาชนะหมักไว้ที่อุณหภูมิ 25OC – 30OC ซึ่งจะเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมในการหมัก
ลักษณะหญ้าหมักที่ดี
- มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นผลไม้ดอง หรือกลิ่นน้ำส้มสายชู
- มีลักษณะไม่ลื่น, ไม่เป็นเมือก
- มีรสเปรี้ยวเหมือนผักดอง
- มีสีเขียวอมเหลือง
การทำฟางปรุงแต่ง
หมายถึง การนำฟางข้าวมาปรับปรุงคุณภาพโดยการใช้สารละลายยูเรีย 6 % (ยูเรีย 6 กก. ละลายน้ำ 100 ลิตร) แล้วหมักไว้นานประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำฟางที่ปรุงแต่งซึ่งต้องการจะใช้มาผึ่งลม เพื่อลดก๊าซแอมโมเนียบางส่วนลง ก่อนนำไปให้สัตว์กิน ส่วนที่เหลือให้ปิดคลุมผ้าพลาสติกไว้เช่นเดิม เพื่อป้องกันการเกิดราขึ้น ปกติแล้ว ฟางข้าวจะมีโปรตีน ประมาณ 1.5/2% เท่านั้น หลังจากนำมาปรับปรุงคุณภาพ เป็นฟางปรุงแต่ง แล้วจี % ของโปรตีนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 เท่าตัว
อุปกรณ์ในการทำฟางปรุงแต่ง
1. ฟางข้าว
2. ปุ๋ยยูเรีย (ปุ๋ยเย็น หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0)
3. น้ำ
4. ภาชนะใส่น้ำ เช่น โอ่งหรือถังน้ำมัน 200 ลิตร
5. บัวรดน้ำ
6. เครื่องชั่ง
7. พลาสติกใส หน้ากว้าง 1.25 เมตร
วิธีทำ
1. เตรียมพื้นที่ที่จะทำกองฟางหมัก ขนาดกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 6 เมตร โดยเลือกพื้นที่เป็นที่ราบไม่ลาดเอียง ปรับที่ให้เรียบไม่ให้มีเศษไม้หรือหินหลงเหลืออยู่
2. ตักน้ำใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ให้ได้ประมาณ 100 ลิตร (5 ปี๊บ) ) ชั่งยูเรีย 6 กก. แล้วนำไปละลายน้ำดังกล่าว คนให้ทั่วจนยูเรียละลายหมด
3. ตัดผ้าพลาสติก ให้ยาวผืนละ 5 เมตร 2 ผืน ปูผ้าพลาสติกนี้บนพื้นที่ซึ่งเตรียมไว้ ให้ขอบผ้าพลาสติกเหลื่อมกันประมาณ 4- 5 นิ้ว ยกขอบรอบนอกของผ้าพลาสติกด้วยมัดฟางหรือท่อนไม้ เพื่อป้องกันมิให้น้ำยูเรียไหลออกจากกองฟาง
4. ขนฟางมากองบนผ้าพลาสติกที่ปูพื้นไว้ ให้ได้ฟาง 100 กก. เกลี่ยฟางให้กระจายอย่างสม่ำเสมอ
5. นำน้ำยูเรียที่ผสมไว้แล้ว รดบนฟางอย่างทั่วถึงด้วยบัวรดน้ำ จะได้ฟางปรุงแต่งชั้นแรก
6. ทำชั้นที่สอง ตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว เรื่อย ๆ ไปจนครบชั้นที่ 5 จะได้ฟางปรุงแต่ง จำนวน 500 กก. ในการทำฟางปรุงแต่งชั้นที่ 3 ชั้นที่ 4 และชั้นที่ 5 ควรขึ้นไปเดินย่ำ เพื่อไม่ให้กองฟางหลวม ซึ่งจะทำให้กองฟางล้มได้ เมื่อเสร็จแล้วจะได้กองฟางสูงประมาณ 1 เมตร
7. ตัดผ้าพลาสติกมา 5 ผืน ยาวผืนละ 5 เมตร ใช้ผ้าพลาสติกที่ตัดไว้ 3 ผืน คลุมส่วนบนของกองฟางตามแนวขวาง ให้ขอบผ้าพลาสติกแต่ละผืนเหลื่อมกัน 4- 5 นิ้ว ที่เหลืออีก 2 ผืน ให้ปิดหัวท้ายของกองฟางเมื่อคลุมเสร็จจะมีขอบพลาสติกที่คลุม และขอบผ้าพลาสติกที่รองพื้นเหลืออยู่เล็กน้อย ให้พับขอบผ้าที่เหลือเข้าด้วยกัน
8. เอาท่อนไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ทับพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เผื่อป้องกันพลาสติกถูกลมพัดและป้องกันแดดส่อง ทิ้งไว้ 21 วัน ก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
ลักษณะฟางปรุงแต่งที่ดี
1. มีสีน้ำตาลเข้มกว่าปกติ
2. มีกลิ่นแอมโมเนีย
3. มีความชื้นประมาณ 50%
4. มีลักษณะอ่อนนุ่ม
5. ไม่มีราขึ้น
การทำฟางปรุงแต่งกะให้ใช้หมดภายใน 3-4 สัปดาห์ (น้ำหนักฟางประมาณ 1,500 กก.) และให้พอกับจำนวนโค โดยที่ฟางกองใหม่สามารถเปิดให้กินได้เมื่อฟางกองแรกหมดพอดี
การใช้เป็นอาหารโค-กระบือ
นำฟางปรุงแต่งที่ผึ่งลม เพื่อลดก๊าซแอมโมเนียลงแล้ว มาให้สัตว์กินในปริมาณที่น้อย ๆ ก่อน ในกรณีที่สัตว์นั้นยังไม่เคยกินฟางปรุงแต่งมาก่อน โดยผสมกับฟางข้าวให้กิน หรือผสมกับวัสดุอาหารชนิด อื่น ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณฟางปรุงแต่งขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ทั้งตัวสัตว์เองและจุลินทรีย์ในกระเพาะได้มีโอกาสปรับตัว การให้กินฟางปรุงแต่งควรให้กินให้หมดหลังนำออกใช้ ภายใน 4 ชม. และควรมีน้ำให้สัตว์กินอย่างเต็มที่ โคสามารถกินฟางปรุงแต่งได้อย่างเต็มที่ประมาณ 2 – 2.5% ของน้ำหนักตัว
การให้สัตว์กินฟางปรุงแต่งอย่างเดียวเต็มที่ จะพอเพียงสำหรับการพยุงน้ำหนักตัวไม่ให้ลดลงเท่านั้น ถ้าต้องการให้มีการเจริญเติบโตหรือให้ผลผลิต จำเป็นต้องเสริมอาหารที่มีคุณค่าสูงให้แก่สัตว์ด้วย เช่น โคมีน้ำหนัก 200 – 250 กก. ให้กินฟางปรุงแต่งวันละ 5 กก. ให้อาหารผสมโปรตีน 14% กินวันละ 1- 2 กก. หรือให้กินรำละเอียด 1.5 กก. จะทำให้โคมีน้ำหนักเพิ่มวันละประมาณ 400 กรัม แต่ถ้ากินฟางปรุงแต่งอย่างเดียวจะเพิ่มน้ำหนักได้วันละประมาณ 30- 35 กรัม เท่านั้น
ข้อควรระวัง
- อย่าให้พลาสติกเป็นรูเพราะก๊าซแอมโมเนียจะระเหยออกไปทำให้ฟางปรุงแต่งไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อาจใช้เทปใสซ่อมพลาสติกที่ขาดได้
- การคลุมกองฟางเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ฟางในกองถูกแสงแดด เพราะจะทำให้ฟางภายในกองมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ก๊าซแอมโมเนียขยายตัวและลอยขึ้นข้างบน ทำให้ฟางที่อยู่ด้านล่างถูกปรุงแต่งไม่สมบูรณ์และทำให้คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร
นอกจากการทำฟางปรุงแต่งแล้ว ยังสามารถใช้วิธีการอื่น ๆ ในการเพิ่มคุณค่าทางโภชนะของฟางข้าวได้ โดยใช้สารละลายยูเรีย-กากน้ำตาล (ปุ๋ยยูเรีย 1.5 กก. กากน้ำตาล 7.5 กก. ละลายน้ำ 80 ลิตร (4 ปี๊ป) ราดฟางข้าว 100 กก. หรือใช้ฟางข้าว เสริมด้วย ใบถั่ว ใบกระถิน ใบมันสำปะหลังตากแห้ง เป็นอาหารให้โคกิน วันละ 0.5 – 1 กก. ต่อตัว จะสามารถรักษาน้ำหนักโคในช่วงแล้งได้